ป.ป.ส. ทุ่มงบ 67 ล้านบาท ให้จังหวัดศรีสะเกษ นำไปใช้แก้ปัญหายาเสพติดภาพรวมในจังหวัด พร้อมจัดสอน ฝึกทบทวนการใช้ไม้ง่ามระงับเหตุคนคลั่ง ให้กับตำรวจ ชรบ. อาสาสมัคร
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ที่อาคารอเนกประสงค์ ตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแกนำระดับพื้นที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และการเปิดสอน ฝึกทบทวนการใช้ไม้ง่ามระงับเหตุคนคลั่ง โดยมี พล.ต.ต.พิษณุ วัตถุ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจชุมชน ชรบ. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้การต้อนรับ
ตามที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็น 1 ใน 10 วาระ ในการขับเคลื่อนจังหวัดศรีสะเกษ บนเส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการปรับมุมมอง “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการบำบัด และพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเสริมสร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง เข้าใจและรอบรู้ปัญหาด้านยาเสพติด ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ จังหวัดศรีสะเกษ พบผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสียงสูง ต่อการก่อความรุนแรง (SMIV) จำนวน 723 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มเร่งด่วน ที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ดูแลติดตามอย่างต่อเนื่อง/เพื่อป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ ลดอันตรายจากการใช้ยา และสารเสพติด
ดังนั้น ตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 3 ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดศรีสะเกษ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษคณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดศรีสะเกษ กำหนดจัด “โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำระดับพื้นที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ” เพื่อความพร้อมให้กับหมู่บ้านชุมชน สร้างการมีส่วนร่วม ในการดูแลช่วยเหลือผู้เสพ ผู้ติด ผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด และลดความเดือดร้อนของประชาชนในชุมชน
นอกจากนี้ช่วงบ่ายยังมีการนำภาพเหตุการณ์จิตเวชคลั่งที่เป็นข่าวมาเปิดให้ดูและศึกษา พร้อมสอนสาธิ และฝึกทบทวนการใช้ไม้ง่าม เพื่อเข้าระงับเหตุคนคลั่ง ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ตำรวจชุมชน เจ้าหน้าที่ชุด ชรบ. เพื่อส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานของตำรวจ ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม สามารถรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนนั้นๆ พร้อมกับเฝ้าระวังเหตุต่างๆ และแจ้งข่าวให้กับตำรวจ อีกทั้งยังเป็นกำลังส่วนหน้าเข้าระงับเหตุในเบื้องต้น และรักษาสถานที่เกิดเหตุ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะเข้าถึงพื้นที่
ด้าน พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ตอนนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้จัดสรรงบประมาณลงมาในจังหวัดศรีสะเกษ กว่า 67 ล้านบาท เพื่อให้มาแก้ไขยาเสพติดในภาพรวม 5 ตัวชี้วัดหลัก 21 ตัวชี้วัด เช่น การป้องกันยาเสพติด การปราบปรามยาเสพติด การยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด การแก้ปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด โดยมุ่งเน้นลงปัญหายายาเสพติดในระดับจังหวัด อำเภอ และระดับหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ นอกจากนี้เตรียมสร้าง ปรับปรุง ศูนย์บำบัดผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยจากการเสพยาเสพติด ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเตรียมรับผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย