นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจและโอนย้ายพยาบาลไปสังกัด อบจ. แต่ต้องเตรียมความพร้อมทุกฝ่ายและประชาชนต้องได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง
นายแพทย์ทะนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ได้แถลงข่าวชี้แจงตามที่มีข่าวว่ามีกลุ่มพยาบาลไปยื่นหนังสือถึงนายก อบจ. ศรีสะเกษ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจโอนย้ายไปสังกัด อบจ.
แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งท้องถิ่น ส่วนกลาง และประชาชน โดยประชาชนต้องได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีระบบการทำงานที่เข้มแข็งและมีเอกภาพ ที่สำคัญได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และ WHO ตลอดจนประชาชนทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการรับมือกับ COVID -19 ที่ผ่านมา
สำหรับกรณีขอโอนย้ายสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา รพ.สต.พร้อมบุคลากร จำนวน 117 แห่ง ในจังหวัดศรีสะเกษ ได้ขอถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. แล้ว โดยมีบุคลากรสาธารณสุขถ่ายโอนไปทั้งสิ้น 789 คน เป็นข้าราชการ 411 คน ซึ่งหากจะมีการโอนย้ายไปเพิ่มเติมจะต้องเป็นบุคลากรที่ทำงานปฐมภูมิเท่านั้น ที่จะเข้ากระบวนการถ่ายโอน ไม่รวมทุติยภูมิและตติยภูมิ
หากไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าว การถ่ายโอนทำไม่ได้และถ้าหากบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ถ่ายโอนผิดหลักการ จะส่งผลให้เกิดความขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก จนอาจถึงขั้นปิดแผนกซึ่งจะกระทบกับประชาชนได้
แต่ถึงอย่างก็ตาม การขอถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. จะผลกระทบกับสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่หรือไม่อย่างไรบ้าง นายแพทย์ทะนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ชี้แจงว่า ตามข้อมูลที่ อบจ. ส่งรายชื่อผู้ประสงค์ถ่ายโอน/ช่วยราชการ มีทั้งหมด 166 คน เป็นพยาบาลวิชาชีพ 112 คน ปฏิบัติงานที่ รพ.สต. 7 คน นอกนั้นปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ 105 คน
โดยบุคลากรพยาบาลในจังหวัดศรีสะเกษมี 2,458.- คน คิดเป็นสัดส่วนต่อประชากร 1: 593 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 1:373 ถือว่าจังหวัดศรีสะเกษยังมีอัตรากำลังพยาบาลไม่เพียงพอ