คลังเก็บหมวดหมู่: เกษตร

พ่อเมืองศรีสะเกษ โชว์บินโดรน เปิดการแข่งขันทักษะการใช้เครื่องจักรกล

พ่อเมืองศรีสะเกษ โชว์บินโดรน เปิดการแข่งขันทักษะการใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2566 ขณะที่เกษตรในพื้นที่ร่วมการแข่งขันอย่างคับคั่ง


เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลพยุห์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดการแข่งขันทักษะการใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่มีความหลากหลายมาประยุกต์ใช้ในการต่อยอดกระบวนการผลิต และเชื่อมโยงตลาดสร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตและผลตอบแทน โดยมี นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดการจัดงาน ตลอดจนเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมให้การต้อนรั

ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้เยี่ยมชมนิทรรศกาลผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ตลอดจนนิทรรศกาลเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นได้ทดลองบินโดรนการเกษตร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ใช้ในการหว่านพืชผลทางการเกษตร ที่ใช้ในการช่วยลดการใช้แรงงานด้านการเกษตร ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้ทดลองควบคุมโดรนด้วยตัวเองโดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก เป็นครั้งแรกที่ได้เคยทดลองควบคุมการบิน ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมาก

หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศการแข่งขันทั้ง 2 รายการ ประกอบด้วย การแข่งขันทักษะการขับรถแทรคเตอร์ และโดรนการเกษตร เพื่อเป็นการแสดงความยินดีและให้กำลังใจเกษตรกร ที่ร่วมการแข่งขันในครั้งนี้

นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษมีแปลงใหญ่จำนวน 436 แปลง โดยมีแปลงใหญ่จากทั้ง 22 อำเภอ เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดจำนวน 254 แปลง เป็นแปลงใหญ่จากกรมส่งเสริมการเกษตร 36 แปลง กรมปศุสัตว์ 3 แปลง กรมการข้าว 209 และการยางแห่งประเทศไทย 6 แปลง ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 713,367,959 บาท

 

ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรถือเป็นกลไกในการพัฒนาการเกษตรยุคใหม่ของประเทศเพื่อทดแทนแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ และเวลา และยกระดับความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยีทางการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศอีกทั้งยังเกิดการพัฒนาบุคลากรภาคการเกษตรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษให้มีทักษะความสามารถในการใช้และการให้บริการเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตร โดยการแข่งขันในครั้งนี้ ประกอบด้วย การแข่งขันทักษะการขับรถแทรคเตอร์ และโดรนการเกษตร โดยมีตัวแทนแปลงใหญ่จากทั้ง 22 อำเภอร่วมการแข่งขัน ในครั้งนี้

ศรีสะเกษเร่ง“กู้หอมแดง”ขายก่อนราคาตก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.65 ที่ทุ่งนาบ้านยางชุมน้อย หมู่ 5 ต.ยางชุมน้อย อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ นายสุรกิต บุษบงก์ อายุ 59 ปี เจ้าของแปลงหอมแดง นำเพื่อนบ้านจำนวน 20 คน ช่วยกันถอนหอมแดง หรือ “กู้หอม” เพื่อส่งขายให้แม่ค้าที่มารับซื้อถึงแปลงปลูกหอมแดง เจ้าของแปลงหอมต้องจ่ายค่าจ้างให้เพื่อนบ้านที่มาช่วยถอนหอมคนละ 300 บาทต่อครึ่งวัน

นายสุรกิต  บุษบงก์ เจ้าของแปลงหอม เปิดเผยว่า แปลงนี้ตนปลูกหอมแดง 4 ไร่ ปีนี้ผลผลิตไม่ดี เนื่องจากอากาศไม่เป็นใจ หอมแดงจะชอบอากาศเย็น ถ้าอากาศหนาวเย็นหอมจะสวย หัวใหญ่ได้น้ำหนัก แต่ปีนี้พอปลูกหอมลงไปก็มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้มีเชื้อโรคใบแดง ผลผลิตจึงลดลงกว่าปีก่อนๆ ปีนี้ต้นหอมสวย แต่ระบบรากไม่ดี หอมจึงไม่มีน้ำหนัก หอมของตนถือว่าดีกว่าของเกษตรกรรายอื่น อย่างแปลงที่อยู่ติดกันหอมเสียหายหมด ใบไม่มี แทบจะเก็บขายไม่ได้เลย เป็นเพราะการดูแลไม่ดีพอ ช่วงนี้ต้องรีบเก็บหอมออกขาย เพราะถ้ารอนานไปราคาจะถูกลงเรื่อยๆ

น.ส.วิมลรัตน์ อ่อนอก  เกษตรอำเภอยางชุมน้อย กล่าวว่า พืชเศรษฐกิจของอำเภอยางชุมน้อย คือหอมแดง ปีนี้ พื้นที่ที่คาดการณ์ว่าเกษตรกรจะปลูกหอมแดงอยู่ที่เกือบ 10,000 ไร่ มีเกษตรกรปลูกหอมแดงอยู่ 3,000 กว่าราย

ซึ่งปีนี้มีพื้นที่ปลูกหอมแดงมากกว่าปีที่ผ่านมาแต่ปีนี้ผลผลิตไม่ดีเนื่องจากสภาพอากาศ ช่วงที่เกษตรกรปลูกหอมก็มีฝนตกลงมาทำให้หอมแดงไม่งอกงาม เวลานี้ หอมแดงออกสู่ตลาดแล้ว เกษตรกรเก็บเกี่ยวไปแล้ว 12,000 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงกลางเดือนธันวาคมไปจนถึงราวกลางเดือนมกราคม

คาดการณ์ว่าจะมีหอมแดงออกสู่ตลาดอีกประมาณ 22,000 ตัน รวมแล้วปีนี้เกษตรกรชาว อ.ยางชุมน้อยจะมีรายได้จากการขายหอมแดงอยู่ที่ประมาณ 510 ล้านบาท

ด้านนางพยอม  ฤาชา อายุ 58 ปี แม่ค้าชาวอำเภอยางชุมน้อย ที่มารับซื้อหอมแดง กล่าวว่า วันนี้ซื้อหอมสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 14 บาท ช่วงต้นปีซื้ออยู่ที่ 20 กว่าบาทถึง 30 บาทอยู่ที่เกรดหอม ถ้าหอมหัวใหญ่น้ำหนักดีหัวเท่ากันก็ได้ราคาดี มาช่วงนี้ราคาหอมแดงในตลาดลดลง แม่ค้าซื้อจากเกษตรกรก็ซื้อราคาลดลงตามตลาด เราคนบ้านเดียวกันพยายามที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มากจะไม่เอาเปรียบเกษตรกร เขามีต้นทุนสูง.

“ปรับสวนยาง” ทำเกษตรพอเพียง” สร้างรายได้เสริม

 

วันนี้ (24 ต.ค. 65) นายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การยางแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย พร้อมคณะ ได้ลงพื้น จ.ศรีสะเกษ เพื่อติดตามการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากยางพาราด้วยเทคนิคการใช้ “ฮอร์โมนเอทธิลีน” ณ ฟาร์มคุณยายสวนยางยั่งยืน บ้านทุ่งน้อย ต.โพนยาง อ.วังหิน ซึ่งเป็นสวนยางพาราแบบผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในการทำสวนยางพารา

 

นายสุขทัศน์ กล่าวว่า การใช้ฮอร์โมนเอทธิลีน สามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 2 เท่าจากการกรีดยางแบบเดิม ลดจำนวนวันทำงาน และแรงงานลง เนื่องจากใช้ระบบกรีด 1 วันเว้น 2 วัน ทำให้มีเวลาในการประกอบอาชีพเสริมในสวนยาง ซึ่งปัจจุบัน การยางแห่งประเทศไทย ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่มาประยุกต์ใช้ในการทำสวนยางพารา แม้ราคายางจะตกต่ำ การทำสวนยางแบบผสมผสาน ไม่เพียงทำให้เกษตรกรชาวสวนยางอยู่รอดได้เท่านั้น แต่จะสร้างความมั่นคงในอาชีพสวนยางอย่างยั่งยืนอีกด้วย

 

ด้าน นายสมาน นวลจันทร์ อายุ 48 ปี เกษตรกรชาวสวนยาง บ้านทุ่งน้อย กล่าวว่า ตนได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง ร.9 มาประยุกต์ใช้ในการทำสวนยางพาราโดยการเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปูนา เลี้ยงโคเนื้อ เลี้ยงหนูพุก และปลูกพืชร่วมสวนยางพาราในพื้นที่ 6 ไร่ สามารถเก็บขาย มีรายได้เสริม เป็นทุนหมุนเวียนเดือนละ 13,500 บาท เพิ่มจากการขายยางพารา

น้ำป่าทะลักท่วมปรางค์กู่! ชาวบ้าน – จนท.ระดมกำลัง เร่งขนย้ายหมูหนีน้ำ

น้ำท่วมอำเภอปรางค์กู่จังหวัดศรีสะเกษทำให้คอกหมู 2 มหาเดือดร้อนหนักต้องระดมขนย้ายหมูที่เลี้ยงไปไว้ที่สูงอย่างเร่งด่วน

 

วันนี้ (21 ก.ย.65) คอกหมูนายศรีตระกูล คำเสียง “มหาแสง” และ นายอำนาจ นวลทรัพย์ “มหาอำนาจ” 2 มหาชื่อดังอำเภอปรางค์กู่ ซึ่งได้ลาสิกขามานานและร่วมลงทุนเลี้ยงหมูที่บ้านฆ้องน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลพิมายเหนือ อำเภอปรางค์กู่ กำลังระดมทีมงานเจ้าหน้าที่ อบต.พิมายเหนือ อบต.พิมาย และ เทศบาลตำบลปรางค์กู่ ช่วยกันย้ายหมูจากคอกที่เลี้ยงกลางทุ่งนาประมาณ 20 ตัว ออกมาไว้ที่สูงอย่างทุลักทุเล เพราะถูกมวลน้ำที่ไหลมาจากอำเภอภูสิงห์เข้าท่วมอย่างหนัก ส่งผลทำให้ทั้งคนทั้งสัตว์เลี้ยงได้รับความเดือดร้อน ถนนเข้าออกหมู่บ้านรถเล็กหรือมอเตอร์ไซด์เข้าออกไม่ได้ ต้องอาศัยการเดินด้วยเท้าเป็นหลัก

 

 

ระดับน้ำที่ท่วมในพื้นที่บ้านฆ้องน้อยดังกล่าว นายศรีตระกูล คำเสียงหรือ “ มหาแสง” บอกว่า น้ำท่วมเหมือนกับปี 56 แต่ระดับน้ำปีนี้จะน้อยกว่า ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำทรงตัวไม่เพิ่มขึ้น แต่ก็กระทบคนที่ออกมาอยู่ทุ่งนา ทั้งคอกหมู คอกวัว ต้องขนย้ายหนีน้ำอย่างเร่งด่วน หากฝนไม่ตกลงมาอีก คาดว่า 3 – 4 วัน น้ำน่าลดลงและต้นข้าวก็ไม่เสียหายมาก

 

ด้านนายวิทยา ไชยเดชกำจร นายอำเภอปรางค์กู่ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลโพธิ์ศรี ตำบลสมอ ตำบลพิมายเหนือ และ ตำบลตูม จึงได้ระดมเจ้าหน้าที่เข้าช่วยขนข้าวของเครื่องใช้ขึ้นสูงให้พ้นน้ำ พร้อมอพยพผู้สูงผู้พิการไปยังที่พักที่ปลอดภัย พร้อมประสานกำนันผู้ใหญ่บ้านแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังน้ำท่วมและสำรวจความเสียหายภายหลังน้ำลด

 

กันทรลักษ์ฝนตกหนัก! น้ำท่วมถนนรอการระบาย รถสัญจรลำบาก

วันนี้ (5 .. 65) นายสุกิจ  เหลืองสกุลไทย นายอำเภอกันทรลักษ์ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขังรอการระบายประมาณ 30 – 40 ซม. บริเวณทางหลวงหมายเลข 2085 หน้าปั้ม ปตท.น้ำอ้อม ทั้ง 4 ช่องทางจราจร ยาวกว่า 100 เมตร ทำให้รถเล็กและรถจักรยานยนต์สัญจรไปมาลำบาก

 

โดยเบื้องต้นจัด จนท. อำนวยความสะดวก และนำป้ายสัญญาณไฟแจ้งเตือน ลดความเดือดร้อนในการสัญจรของประชาชน

จิตอาสาพัฒนาแหล่งน้ำ เฉลิมมพระเกียรติฯ “พระพันปีหลวง”

เทศบาลตำบลผือใหญ่ เปิด “โครงการกำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำสาธารณะ”เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

 

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 ที่บริเวณ ลำห้วยผือพับ บ้านผือใหญ่ หมู่ที่ 12 ตำบลผือใหญ่ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ นายสุวรรณ เนตรเนติกุล นายอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการกำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำสาธารณะ”เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยมีนายประยูร เดชหาญ นายกเทศมนตรีตำบลผือใหญ่ นำหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราช กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาเทศบาล อสม. อปพร. และชาวบ้านในตำบลผือใหญ่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

เนื่องจากการขยายตัวของผักตบชวาและวัชพืชต่าง ๆ กีดขวางการไหลของน้ำ โดยเฉพาะผักตบชวาและวัชพืชอื่นๆ ล้วนเป็นสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน ไม่สามารถเป็นแหล่งรองรับน้ำได้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขัง นับเป็นปัญหาที่เร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไข เพื่อให้แหล่งน้ำสามารถรองรับน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้และไม่ทำให้น้ำท่วมขัง และยังเป็นการอนุรักษ์ พื้นฟู ทัตนียภาพของแหล่งน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป

เทศบาลตำบลผือใหญ่ เล็งเห็นถึงปัญหาความจำเป็นดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาเทศบาลตำบลผือใหญ่ อสม. อปพร. และประชาชนชาวตำบล ผือใหญ่ โดยมีเป้าหมายกำจัดวัชพืช ในลำห้วยผือพับ ช่วงบ้านผือใหญ่ ระยะทาง 600 เมตร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 เพื่อปรับปรุงพื้นฟู สภาพแวดล้อมของลำห้วยผือพับ ให้มีน้ำเพียงพอในการใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนต่อไป

ศรีสะเกษจัดคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ แก้ไขปัญหา-บูรณาการ เกษตรกรเชิงรุก

ศรีสะเกษจัดคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ แก้ไขปัญหา-บูรณาการ เกษตรกรเชิงรุก

วันนี้ (4 ส.ค. 65) นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 70 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ณ ที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนเข้าร่วมและเข้ารับบริการคลินิกเกษตรกว่า 500 คน

โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญ นับเป็นการปฏิบัติงานเชิงรุกที่ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหาด้านการเกษตร ได้รับบริการทางการเกษตรอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว

สำหรับการให้บริการคลินิกเกษตรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงคลินิกอื่น ๆ ที่มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ร่วมให้บริการ การจัดแสดงและจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์ ของวิสาหกิจชุมชน Young Smart Farmer ของจังหวัดศรีสะเกษ

บริษัทเอกชน จัดมหกรรมพบเกษตรกร โชว์ปุ๋ยอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่สามารถลดต้นทุนในการผลิตพืชผล

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ อาคารเคลียร์ทาวเวอร์ ถนนศรีสะเกษ-อุบล ตำบลหนองแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ บริษัท ศ.ทุ่งทองหนองแก้ว จำกัด โดย นายปัญณ์ฐาโชค วรรณสุทธิ์ ประธานกรรมการฯ พร้อมด้วยเจ้าพนักงานบริษัท ได้จัดงาน มหกรรม สิงห์ทอง พบเกษตรกร เพื่อแนะนำตัวแทนผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัท และยังได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าร่วมงานกันได้ฟรี แนะนำปุ๋ยอินทรีย์ สิงห์ทุ่งทอง ตรา สิงห์ทุ่งทอง ซึ่งถือว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ค่าเงินลาทของไทยแข็งตัวตัวเช่นนี้ ทำให้ราคาสินค้าต่างจำเป็นต้องขึ้นราคาไปตามสถานการณ์ โดยเฉพาอย่างยิ่ง นับตั้งแต่มีการสู้รบกันรหว่างยูเครน กับรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันผันพวนเพิ่มราคาขึ้นอย่างมาก สิ่งที่กระทบกับพี่น้องเกษตรกรโดยตรงก็คือ ราคาปุ๋ยที่มีจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาด ที่เกษตรกรจำเป็นต้องใช้ในแปลงนาข้าว ในพืชไร่ สวน วันนี้ ปุ๋ยตราสิงห์ทุ่งทอง จึงได้ลดราคาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมจัดโปรโมชั่นมากมาย เป็นการ “ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต” ให้กับพืชทุกชนิดของเกษตรกร


นายปัญณ์ฐาโชค วรรณสุทธิ์ ประธานกรรมการฯ กล่าวเปิดงานว่า วันนี้ทางบริษัทเรา ได้เข้าใจถึงหัวอกหัวใจของพี่น้องเกษตรกร ในการที่จะต้องหาปุ๋ยที่ดีมีคุณภาพ แต่ราคาไม่แพง มาใส่ในแปลงนาข้าว มาใส่ในไร่ สวน ซึ่งแท้จริงแล้ว ปุ๋ยตราสิงห์ทุ่งทอง ของบริษัทเรา เปิดตัว และจำหน่ายมานานกว่า 3 ปีแล้ว มีพี่น้องเกษตรกรที่นำไปใช้แล้วได้ผลมากมาย แล้วมีการบอกต่อ จนบริษัทเราต้องสั่งผลิตเพิ่ม เพื่อแจกจ่ายไปยังเกษตรกรที่ต้องการ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้ ศ.ทุ่งทอง ของเราต้องออกมาบอกพี่น้องเกษตรกรอีกว่า ปุ๋ยตราสิงห์ทุ่งทอง สามารถ ลพต้นทุน เพิ่มผลผลิตได้ อย่างแน่นอน เราท้าให้พิสูจน์ด้วยตัวเกษตรกรเอง เพราะบริษัทเรา ตั้งอยู่ตำบลหนองแก้ว อยู่อำเภอเมืองศรีสะเกษ อยู่กับพี่น้องเกษตรกร ที่สำคัญเป็นคนศรีสะเกษ


นอกจากนั้น ภายในงาน ยังได้มีเกษตรกรชาวนา ชาวสวน ที่ทนำผลผลิตทั้งอินทผาลัม, ข้าว, มะนาว, พืชผักสวนครัว อื่นๆ ที่พี่น้องเกษตรกรกปลูก แล้วใช้ปุ๋ยตราสิงห์ทุ่งทอง นำมาแสดง มาเปิดให้คำแนะนำในการใช้ นำมาจำหน่ายภายในงานนี้ด้วย

ศรีสะเกษ เร่งช่วยเหลือเกษตรกรน้ำท่วมแปลงหอมแดง

รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะกษ รุดติดตามน้ำท่วมพื้นที่ปลูกหอมแดงในพื้นที่อำเภอยางชุมน้อยพร้อมบูรณาการช่วยหาตลาดรับซื้อหอมสดขณะที่การเยียวยาคาดไม่เกิน 60 วัน      

 

วันนี้ (3 พ.ย. 64) นายอนุรัตน์  ธรรมประจำจิต  รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะกษ ได้นำหัวหน้าส่วนราชการ พร้อมภาคีผู้ประกอบการภาคเอกชน ล่องเรือรุดติดตามน้ำท่วมแปลงปลูกหอมแดงของเกษตรกรชาวบ้านค้อเมืองแสน ตำบลคอนกาม อำเภอยางชุมน้อย

พบว่าแปลงหอมแดงกว่า 250 ไร่ ที่เกษตรกรปลูกไว้ถูกน้ำจากลำน้ำมูลเอ่อเข้าท่วมเสียหายทั้งหมด โดยหอมแดงดังกล่าวอยู่ในระยะเวลาใกล้จะเก็บเกี่ยวแล้ว คาดว่าประมาณ 15 -20 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวไว้ทำพันธ์หรือจำหน่ายได้แล้ว

หากราคาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมล่ะ 25 – 30 บาท เกษตรกรจะมีรายได้เมื่อหักต้นทุนแล้ว ก็ประมาณ 2 – 3 แสนบาทเลยทีเดียว  แต่เมื่อถูกน้ำท่วมจนจมมิดแบบนี้  เกษตรกรต้องอกช้ำน้ำตาหมองแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ไหนจะเงินค่าลงทุน ไหนจะเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทุกเดือน เรียกว่า เงินแสนต้องสูญหายไป เหลือเพียงน้ำตากับหนี้สิน       

การช่วยเหลือเบื้องต้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะกษ ได้ประสานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ และผู้ประกอบการภาคเอกชน ได้รับซื้อหอมแดงสดนำไปแปรรูป หรือ นำไปจำหน่ายตามท้องตลาด เพื่อให้เกษตรกรพอมีรายได้ นำไปเป็นทุนรอนลงมือปลูกใหม่ภายหลังน้ำลด 

ขณะที่การสำรวจความเสียหายของแปลงหอมแดงทั้งหมดในพื้นที่อำเภอยางชุมน้อย พบว่ามากกว่า 2,000.-ไร่  ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบราชการไร่ละไม่เกิน 1,980.- บาทต่อไร่

โดยจังหวัดศรีสะเกษจะเร่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือภายใน 60 วัน หรือ ก่อนปีใหม่แน่นอน เป็นการช่วยซับน้ำตาของเกษตรกรพร้อมเป็นของขวัญปีใหม่ด้วย