คลังเก็บหมวดหมู่: ประชาสัมพันธ์

อุตุฯ เตือน ฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

สภาพอากาศวันนี้ กรมอุตุฯ เตือน อากาศเย็นถึงหนาว ยอดดอย อุณหภูมิต่ำสุด 4 องศา และมี ฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีลมตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลางถึงมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 06:00 น. วันนี้ ถึง 06:00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ

อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 12-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 5-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่าง อุณหภูมิต่ำสุด 15-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียสบริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 15-17 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.

ภาคกลาง

มีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 36-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราดอุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส

ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

เมฆบางส่วน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาสอุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

เมฆบางส่วน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

กรุงเทพและปริมณฑล

มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.

ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปลาย ก.พ. ร้อนตับแลบ 44 ํC

กรมอุตุฯ ประกาศ ไทยเตรียมเข้าสู่ฤดูร้อนปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ คาดอุณหภูมิจะร้อนสูงสุด 43-44.5 °C
เตือนเป็นพิเศษถึงโรคที่มีสาเหตุจากอากาศกับกลุ่มเปราะบางด้วย
 
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานพยากรณ์อากาศล่าสุด ระบุว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ
คาดว่า จะเริ่มประมาณต้นสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะช้ากว่าปกติประมาณ 1-2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567
 
โดยทั่วไปสภาพอากาศจะร้อนอบอ้าว และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ และอาจมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางช่วงโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือคาดว่าจะมีอุณหภูมิสูงที่สุดของประเทศ ซึ่งจะสูงถึง 44.5°C
รองลงมาเป็นภาคกลางและตะวันออกรวมทั้งชายฝั่งที่จะมีอุณหภูมิสูง 42-44°C ขณะที่ภาคใต้, กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 40-41°C
 
ทั้งนี้ ภาคใต้อาจต้องระวังคลื่นลมในทะเลที่อาจทำให้คลื่นสูง 2-3 เมตร เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ สภาพอากาศทั้งหมดนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ 2567
 
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่ร้อนจัดอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ทางกรมอุตุฯ ได้แจ้งเตือนเป็นพิเศษถึงโรคที่มีสาเหตุจากอากาศกับกลุ่มเปราะบางด้วย เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็ก

กรมอุตุฯ เตือน 24 – 27 ม.ค. อากาศแปรปรวน ฝนตกหนัก

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน อากาศแปรปรวน มรสุมถล่ม ฝนตกหนัก 24 – 27 ม.ค.

ในช่วงวันที่ 24 – 27 มกราคม 2567 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น 

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ทะเลมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามัน
คลื่นสูง 1 – 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร 

ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 27 มกราคม 2567 จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แหล่งที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา

เตือน! ชาวบ้านริมห้วยทับทันระวังน้ำท่วมฉับพลัน

วันนี้ (19 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ได้มีเจ้าหน้าที่ชลประทานทำการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 7 บาน โดยยกระดับบานประตูขึ้น บานละ 1.70 เมตร มีระดับน้ำหน้าเขื่อนราษีไศล วัดได้ 117.51 ม.(รทก.) มีปริมาณน้ำเก็บกัก 54.62 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 73.36 ของความจุ เพิ่มขึ้นจากมื้อวาน 0.06 เซนติเมตร

 

นายจำรัส  สวนจันทร์  ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ แจ้งว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากอ่างเก็บน้ำ และ ลุ่มน้ำต่างๆ ยังปกติ หากเทียบกับปี 2565 ยกเว้นลำน้ำห้วยทับทัน  ซึ่งมีต้นน้ำมาจากจังหวัดสุรินทร์พบปริมาณน้ำค่อนข้างสูง จึงขอเตือนราษฎรทั้งสองฝั่งลำห้วยทับทันให้เตรียมระวัง เพราะอาจมีน้ำท่วมฉับพลันจนสร้างความเสียหายได้

 

ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 16 แห่ง ปัจจุบันมีน้ำเกิน 100 % จำนวน 10 แห่ง อยู่ระหว่าง 80 ถึง 99 % จำนวน 3 แห่ง และ น้อยกว่า 80 % จำนวน 3 แห่ง  ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งนั้นเก็บกักได้ 208.34 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเก็บกักได้ 195.07  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 93.63%  ถือว่าต่ำกว่าปี 2565

กขป.10 ผนึกสื่อทุกแขนง ชูนโยบายสุขภาพเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม

คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 10 (กขป.10) เดินหน้าขับเคลื่อน ประชาสัมพันธ์ข้อมูล แผนการทำงาน ประเด็นการทำงานด้านสุขภาพที่ประชาชนควรรับรู้ เพื่อสร้างระบบสุขภาพชุมชน ด้วยความรอบรู้และลดความเหลื่อมล้ำ สังคม โดยได้จัดการประชุม “เวิร์คช๊อป บทบาทคณะงานสื่อสาธารณะ กปข.10” ขึ้น โดยมี นายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 10 พร้อมด้วย นายชลธิษ จันทร์สิงห์ ประธานคณะทำงานสื่อสาธารณะ กขป. 10 พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการสื่อ กขป.10 ทุกแขนง ประกอบไปด้วย สื่อด้านวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ในเขตพื้นที่ กขป.10 คือ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ร่วมประชุม เพื่อวางแผน การสื่อสารประเด็นสุขภาพ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าย เมื่อ 19 พ.ค.66 ที่ห้องประชุมสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี นายวีรพล สุธาอรรถ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี ให้การต้อนรับ

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 10 กล่าวว่า คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 10 หรือ กขป.10 จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ปี พ.ศ.2559 ซึ่งมีทั้งหมด 13 เขต ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อผลักดันให้เกิด นโยบายสาธารณะในพื้นที่ เช่น ธรรมนูญสุขภาพ เพื่อให้ประชาชน รับรู้ เข้าใจรูปแบบและนโยบายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งต่อนโยบายจากรัฐบาลโดยตรงสู่ประชาชน และสามารถแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพให้กับประชาชนได้อย่างตรงประเด็น เพื่อให้ตรงกับเป้าหมายในการดำเนินงาน เพื่อสร้างระบบสุขภาพชุมชน ด้วยความรอบรู้ด้านสุขภาพ และลดความเหลื่อมล้ำ สังคม ซึ่งในปัจจุบันสื่อมวลชนก็เป็นกลไกสำคัญ ในการนำเสนอขอมูลดังกล่าว ผ่านช่องทางการสื่อสารหลักและ และสื่อโซเซี่ยลทุกรูปแบบในปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและตระหนักในเรื่องสุขภาพมากขึ้น.

ศรีสะเกษปฐมนิเทศข้าราชการใหม่ “หลักสูตรการเป็นข้าราชการที่ดี”

วันนี้ (17 พ.ค. 66) นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้เดินทางมาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ “การบริหารราชการ 4.0” แก่ผู้เข้ารับการปฐมนิเทศข้าราชการพลเรือนบรรจุใหม่ “หลักสูตรการเป็นข้าราชการที่ดี” สำหรับแพทย์ ของเขตตรวจสุภาพที่ 10 ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมพรหมพิมาน อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ

โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนายแพทย์บรรจุใหม่ จำนวน 150 คน ของเขตสุขภาพที่ 10 (จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธรอำนาจเจริญ และมุกดาหาร) เข้ารับการอบรม ณ โรงแรมพรหมพิมาน อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติงานในภาคราชการ รวมถึงการมีทัศนคติที่ดีในการทำงานเพื่อประชาชนต่อไป

ประกาศ!! ไทยเตรียมเข้าสู่ฤดูฝน 22 พ.ค.นี้

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ ไทยเตรียมสิ้นสุดฤดูร้อน และเข้าสู่ฤดูฝน 22 พ.ค.นี้ กลางเดือน มิ.ย.-ก.ค. จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่วนช่วง ส.ค.-ก.ย. มีโอกาสเกิดพายุหมุนฤดูร้อนเคลื่อนผ่านไทย ส่งผลฝนตกหนักหลายพื้นที่
 
โดยผลการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่า จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ 3.5 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้
 
อ่านข้อมูลทั้งหมด https://www.prd.go.th/…/category/detail/id/9/iid/182703

อุตุฯเตือน!! พายุฤดูร้อนถล่ม 29 เม.ย. – 1 พ.ค. ลมแรง-ลูกเห็บตก

พยากรณ์อากาศ กรมอุตุฯประกาศ ฉบับที่ 1 “พายุฤดูร้อน” ถล่มไทยอีกระลอก 29 เมษายน – 1 พฤษภาคม ระวังฝนถล่ม ลมแรง ลูกเห็บตก

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 1 (121/2566)(มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2566)

โดยระบุว่า ในช่วงวันที่ 29 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2566  ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ส่วนบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย