อนุรักษ์สืบสาน “ผ้าทอเบญจศรี” พร้อมใจนุ่งผ้าไทยใส่บาตร


ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นำข้าราชการ ประชาชน พุทธศาสนิกชน พร้อมใจนุ่งผ้าไทยใส่บาตร ทำความดี วิถีพอเพียง เดินแบบผ้าไทยเพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยของจังหวัดให้เป็นที่รู้จัก ส่งเสริมการตลาด

วันนี้ (22 ก.ย.63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานโคปุระ เกาะกลางน้ำห้วยน้ำคำ สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายสำรวย เกษกุล และนายสมชัย คล้ายทับทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ นายประหยัด ถิลา วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ นำหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน พุทธศาสนิกชนชาวศรีสะเกษ พร้อมใจนุ่งผ้าไทยใส่บาตร ทำความดีวิถีพอเพียง ตามโครงการอนุรักษ์ สืบสาน ศาสตร์ศิลป์ ผ้าถิ่นเมืองศรีสะเกษ ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดขึ้นทุกวันอังคาร เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนา เผยแพร่ผ้าไทยและผลิตภัณฑ์โอท็อปของศรีสะเกษให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ส่งเสริมการท่องเที่ยว

 

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมนุ่งผ้าไทยใส่บาตรทุกวันอังคารนั้น การจำหน่ายสินค้าโอท็อป ส่งเสริมการท่องเที่ยว จังหวัดก็ได้ปรับรูปแบบมาเรื่อยเพื่อให้เกิดความสนใจ ในครั้งนี้ ก็ได้เน้นในเรื่องของการอนุรักษ์สืบสานผ้าพื้นเมือง เพื่อที่จะได้ต่อยอดสิ่งที่ดีงามของคนไทยและของชาวศรีสะเกษ ก็ได้จัดให้ลูกๆ นักเรียนจากโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัยมาเล่นดนตรีไทย และมาเดินแบบด้วยการแต่งกายผ้าไทย โดยมีนายแบบนางแบบกิตติมศักดิ์มาร่วมเดินแบบด้วย

จากนี้ไปก็จะมีการสลับหมุนเวียนการจัดกิจกรรมกันไปในแต่ละสัปดาห์ เพื่อที่จะกระตุ้นในเรื่องของผ้าไทย ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 ที่ทางจังหวัดได้ส่งเสริมมาโดยตลอดก็อาจจะเงียบลงไปบ้าง หลังจากที่สถานการของโรคโควิดคลี่คลายลงไปบ้างแล้วจังหวัดเราก็จะกระตุ้นอีกเพื่อให้สินค้าโอท็อปได้ออกสู่ตลาด ได้จำหน่ายเพื่อให้เศรษฐกิจของจังหวัดดีขึ้น ผ่านการจัดงานในลักษณะอย่างนี้ ซึ่งจังหวัดได้จัดทุกวันอังคาร

ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะบอกให้นักท่องเที่ยวทั่วประเทศได้รับทราบคุณค่าของความเป็นไทยคุณค่าของผ้าไทย เสน่ห์ของผ้าไทยศรีสะเกษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของผ้าอัตลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าเบญจศรี ก็คือ สีลาวา, สีลำดวน, สีกุลา, สีลำดวนหรือแม้กระทั่งสีมะเกลือ ซึ่งจังหวัดเราเรียกว่าผ้าเบญจสี และที่สำคัญในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นเรื่องของการแส่ว ซึ่งจังหวัดได้ปักธงของจังหวัดว่าเราจะเป็นธานีผ้าสีแส่ว ซึ่งสิ่งนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าในเรื่องของผ้าขึ้นมาอีก จะเป็นการกระจายรายได้ไปให้กับพี่น้องประชาชนผ่านกิจกรรมโครงการนุ่งผ้าไทยใส่บาตรเป็นการอนุรักษ์และรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น” นายวัฒนา กล่าว.